งานภูเขาทอง

Last updated: 19 ม.ค. 2559  | 

งานภูเขาทอง

     หากพูดถึงงานวัด คนรุ่นก่อนไม่มีใครไม่รู้จักงานภูเขาทอง วัดสะเกศ เป็นงานวัดเก่าแก่ และมีเอกลักษณ์ของชาวพุทธสมัยก่อน เมื่อเสร็จภารกิจการงานมาตลอดวัน ก็ถือดอกไม้ ชวนกันไปวัด ร่วมกันไหว้พระ เวียนประทักษิณ (เวียนขวา) สักการะพระบรมสารีริกธาตุ สวดมนต์บทง่ายๆ เจริญจิตภาวนา เมื่อสบายใจแล้ว ต่อด้วยการพักผ่อน สำราญไปกับการชมสินค้าพื้นเมือง จากทุกภาคของเมืองไทย และการละเล่นแบบย้อนยุค อาทิ ร้านค้าขนมโบราณ อาหารหายาก การละเล่นชิงช้าสวรรค์ ยิงปืน ป่าโป่ง โยนห่วง สาวน้อยตกน้ำ ละครลิง บ้านผีสิง เป็นต้น ในแต่ละปีผู้คนต่างรอคอยงานวัดภูเขาทองอย่างใจจดใจจ่อ เพราะปีหนึ่งจะมีโอกาสได้เที่ยวเล่น เพลิดเพลิน บันเทิงใจ อิ่มบุญกันสักครั้งหนึ่ง

     งานภูเขาทองปีนี้ นอกจาก จะให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญภายในวัดแล้ว เพื่อประกาศเกียรติคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

     ในฐานะที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นรองประธานสภาสงฆ์โลก นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกและรูปเดียวที่ก้าวขึ้นสู่การบริหารองค์การสงฆ์โลก เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรก ที่เดินทางเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่เดินทางเยือนนครรัฐวาติกัน กรุงโรม อย่างเป็นทางการ เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่เดินทางรอบโลก เพื่อสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาและสานศาสนสัมพันธ์กับนานาอารยประเทศ เป็นผู้ริเริ่มเชื่อมโลกพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายานเข้าด้วยกัน และเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการสร้างวัดในต่างประเทศ จนเกิดวัดไทยขึ้นทั่วโลก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จึงได้จัดนิทรรศการ ชุด “พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก” พร้อมเปิดตัวภาพเขียนประวัติศาสตร์ “เย็นหิมะในรอยธรรม” ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินทางรอบโลกของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ร่วม ๖๐ ปี โดยเปิดให้ชม ระหว่าง 10-19 พฤศจิกายน 2556

ในวันอาทิตย์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2556 เวลา 06.00 น. จะมีพิธีห่มผ้าแดงสักการะองค์บรมบรรพต

โดยริ้วขบวนอัญเชิญผ้าแดง ประกอบด้วย ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนฉัตรธงทิว ขบวนเทวดา ขบวนพราหมณ์ ขบวนม้า และขบวนช้างอัญเชิญมณฑปประดิษฐานเกศา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ต่อด้วยขบวนพุทธศาสนิกชนอัญเชิญผ้าแดงยาวหลายกิโลเมตร ผ่านถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาส เข้าสู่ถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาสี่แยกหลานหลวง ผ่านถนนจักรพรรดิพงษ์ เลี้ยวขวาสี่แยกแม้นศรี เข้าถนนบำรุงเมือง เลี้ยวขวาที่สี่แยกเมรุปูน เข้าถนนบริพัตร ข้ามสะพานมหาดไทยอุทิศ เลี้ยวขวาเข้าถนนดำรงรักษ์ เข้าสู่ถนนจักรพรรดิพงษ์ ข้ามสะพานนริศดำรัส แล้วเลี้ยวเข้าวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยยึดตามพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ปราศจากอันตรายนานาประการ

                 

     สำหรับประวัติงานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาล การละเล่นทางน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า“คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทง ในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทอง ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา

     ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพสักการะบูชา และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลัง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงบรมบรรพต ภูเขาทอง หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม

     งานวัดสระเกศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จนแล้วเสร็จ พระองค์ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดยมิสเตอร์ วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

     หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลู หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่า“ประเทศไทยนี้มีเจดีย์และที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากมาย แต่ที่แน่ใจว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง คือ องค์ที่บรรจุที่บรมบรรพต ภูเขาทอง เพราะมีบันทึกเป็นจดหมายเหตุประกอบโดยละเอียดตั้งแต่ขุดพบ จนอัญเชิญจากประเทศอินเดียมาสู่ประเทศไทย ประกอบกับทางประเทศอินเดีย ก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย ครั้นคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำเพื่อการเฉลิมฉลอง และที่พระสมุทรเจดีย์นี้เอง พระบรมสารีริกธาตุได้เกิดปาฏิหาริย์ ส่องแสงสว่างแวววาวออกจากองค์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่อัศจรรย์”

     นอกจากนั้น วัดสระเกศยังเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่ากรุงธนบุรีเกิดจลาจล จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงคราม จึงประกอบพิธีมูรธาภิเษกขึ้นบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก อันเป็นที่ตั้งหอไตรในปัจจุบัน ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

     ภายหลังเมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงทรงสถาปนา “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” พระอารามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี

     ต่อมา สระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมูรธาภิเษกได้ถูกถมไป เพราะถือว่าสระน้ำที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้แล้วไม่ควรที่ประชาชนทั่วไปจะใช้อีก ยังคงปรากฏอยู่แต่หอไตร นอกจากนั้น ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ 1 อยู่บริเวณเดียวกับหอไตร เดิมเป็นเรือนไม้ ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้เปลี่ยนเป็นตึกก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม เพราะพระองค์เกรงว่าหากพระตำหนักยังเป็นเรือนไม้อาจจะทรุดโทรมเสียหายได้ง่าย ภายในพระตำหนักมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายกระบวนจีน อันแสดงถึงลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3

     พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวว่า "พระเจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์วัดภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ 100 เมตร ความกว้างโดยรอบเส้นศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร สร้างโดยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เหตุการณ์มีความสอดคล้องกันเช่นนี้ งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน 3 วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเริ่มขึ้นแล้ว เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีทำให้เกิดสิริมงคล อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล"

     พระพรหมสิทธิ กล่าวต่อไปอีกว่า "เรื่องของอานุภาพการบูชาพระเจดีย์นั้น ปรากฏความว่า หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 3 พรรษา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ชาวเมืองเวสาลี ผู้คนประสบภัยพิบัตินานาประการ ทั้งข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ภูตผีปีศาจทำอันตราย บ้านเมืองกระด้างกระเดื่อง เกิดโจรผู้ร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่เมืองเวสาลี ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายก็พลันหายไปสิ้น เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อโรคภัยไข้เจ็บหายก็ทำให้ประชาชนมาแวดล้อมพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้มิใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ ”

     ขณะเดินขึ้นภูเขาทองมีเสียงธรรมะตามสายของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้ฟังตลอดทาง ฟังแล้วรู้สึกชุ่มชื่นใจ ลืมความวุ่นวายสับสนจากโลกภายนอกไปได้ชั่วขณะ ด้านบนองค์พระเจดีย์ลมพัดเย็นสบาย มองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ กรุงเทพมหานครยามค่ำคืนช่างงดงาม แสงไฟส่องสว่างเจิดจรัสทั่วพระนคร เหมือนนครหลวงแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล เมื่อมองขึ้นเหนือยอดเจดีย์ “แสงฉัพพัณรังสีเรืองรองบนยอดองค์พระเจดีย์นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ยิ่งทำให้เกิดปีติ มองไปรอบข้าง ผู้คนต่างมีดอกไม้ธูปเทียนในมือ มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่เดินทำประทักษิณเวียนขวารอบองค์พระเจดีย์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ บรรยากาศน่าศรัทธายิ่ง

     เมื่อเดินกลับลงมาด้านล้างแวะไหว้ “หลวงพ่อโต” “หลวงพ่อดำ” “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” และ “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณรอบบรมบรรพต แต่พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ทำให้สะดุดตามาก คือ พระพุทธรูปยืนสูงสง่า พระพุทธรูปองค์นี้ คือ “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น มีความสูงถึง 10.75 เมตร อายุเก่ากว่า 700 ปี รัชกาลที่ 3 อัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ทางวัดเปิดพระวิหารให้ประชาชนได้กราบไหว้เป็นกรณีพิเศษ นอกจากนั้น ยังมีการละเล่นต่างๆ ให้ชมมากมาย มีอาหารให้ชิมหลากหลาย เรียกว่า เที่ยวงานภูเขาทอง อิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งท้อง

                 

     ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมงานย้อนยุคห่มผ้าแดง องค์พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) เทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี พุทธศักราช 2556 เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ 10 ถึง 19 พฤศจิกายน 2556 นี้ เวลา 06.00 – 24.00 น. สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มาเที่ยวงานวัด น่าจะหาโอกาสมาสักครั้ง บรรยากาศงานวัดเก่าๆ เช่นนี้ คงมีไม่บ่อยนัก


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้