มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๙)

Last updated: 26 ธ.ค. 2559  | 

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๙)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๙)
-พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)-

(คำปรารภ)

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลกรณวิทยาลัย ในพระบรมราชปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ที่นี่ มีคอมมิวนิสต์ ใช่ไหม?

ได้เล่าแล้วข้างต้นว่า เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ ในวันที่ ๒๐ ต.ค. ๒๕๑๐ ได้ประกาศว่าจะปราบคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด แล้วทันทีนั้น ในวันรุ่งขึ้น ก็ได้เริ่มจับผู้ถูกกล่าวหารุ่นแรกราว ๔๐ คน เช่น นายสังข์ พัธโนทัย นายสงวน ตุลารักษ์ รวมมาถึงอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ซึ่งมาสอนที่มหาจุฬาฯ ด้วย

ต่อจากนั้น เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร ผู้เล่าซึ่งเป็นผู้เรียน ก็ไม่ได้ติดตาม คงได้ยินได้ฟังข่าวบ้างบางครั้งบางคราว แต่ทั้งโดยภาวะและโดยไว บวกกับความสนใจส่วนตัวที่ไม่ค่อยมี เรื่องก็แค่ผ่านๆ ไป ยิ่งกว่านั้น หลังปฏิวัติไม่ถึง ๓ เดือน ตัวพูดเล่าเองก็อาพาธด้วยวัณโรคอย่างแรง อาเจียนโลหิตมาก ไม่ได้ไปเรียนจนสิ้นปีการศึกษา

แถมอีกว่า เมื่อขึ้นปีการศึกษาต่อมา พอเปิดเรียนในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒ ก็มีเรื่องยุ่งยาก เป็นปัญหาภายในของมหาจุฬาฯ เอง ทำให้การศึกษาเล่าเรียนไม่ดำเนินไปตามปกติ และต้องพากันสนใจเฝ้ามองตามดูเรื่องภายในนั้น


ทั้งนี้ เนื่องจากมีนิสิตกลุ่มหนึ่ง บางทีเรียกให้สะดวกปากว่าพวกก่อกัน ได้ทำความวุ่นวายขึ้น เพื่อขอให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบางท่าน เรื่องขยายออกไปกลายเป็นเหตุให้ผู้บริหารพลอยขัดกัน ผู้บริหารบางท่านสั่งลงโทษนิสิตที่ก่อการ แต่มีการคัดค้าน บางท่านสั่งปิดเรียน บางท่านให้เปิดเรียน องค์สภานายกก็เมตตามาร่วมแก้ไขสถานการณ์ ในที่สุด เหตุการณ์ก็ผ่านไป โดยมีความอ่อนแอภายในค้างอยู่บ้างเป็นธรรมดา



พระพิมลธรรม

ปีการศึกษาต่อมา คือ ๒๕๐๓ เป็นช่วงเวลาสำคัญอันร่างแหคอมมิวนิสต์พะพานถึงมหาจุฬาฯ แล้วแผ่พันพัวไปนานหลายปี โดยเริ่มแต่เปิดเรียนได้ไม่กี่วัน

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดปีการศึกษาตามปฏิทินจันทรคติ ปีนั้นตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๓ มีวิธีบูชาพระรัตนตรัย แล้วปราศรัยและโอวาท ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ โดยองค์สภานายก คือพระพิมลธรรม เป็นประธาน

เมื่อเสร็จพิธีเปิดเป็นทางการแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เนื่องจากอากาศยังร้อนจัดจึงให้หยุดพักรอไปเปิดเรียนจริงในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓



สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ระหว่างปิดพักรอเวลาที่จะเล่าเรียนในปีนั้น ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์หลายอย่าง เริ่มด้วย งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓

ต่อด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ คือ สมเด็จพระสังฆราชกิตติโสภณมหาเถระ วัดเบญจมบพิตร ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓

จากนั้น มีการตั้งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุฏฐายีมหาเถระ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นสังฆนายก ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๐๓ และตั้งคณะสังฆมนตรี ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓


สมเด็จพระสังฆราชกิตติโสภณมหาเถระ



สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุฏฐายีมหาเถระ


เมื่อเปิดเรียนจริงในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ แล้ว ก็เข้าสู่เวลาช่วงต้นของปีการศึกษา ที่ชาวมหาจุฬาฯ เตรียมใจต้อนรับที่จะร่วมงานใหญ่อันสำคัญประจำปี คือวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ บรรณาพระนิสิตนักศึกษาพากันนึกถึงและมองไปที่การจัดงาน โดยมีคณะกรรมการนิสิตจะเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ

จึงเป็นธรรมดาว่า พอเปิดเรียนแล้ว พระนิสิตรุ่นพี่ โดยเฉพาะในชั้นพุทธศาสตร์ ปีที่ ๔ ที่มีกันเวลานั้นไม่กี่รูป ขยายลงมาถึงปีที่ ๓ บ้าง ก็ง่วนขลุกกันกับการเตรียมงานดังกล่าวนั้น เริ่มแต่เลือกสรรตั้งคณะกรรมการนิสิตขึ้นมา

ผู้เล่านี้ เวลานั้น ยังเป็นสามเณร อยู่ในชั้นพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ไม่คิดว่าตัวเองจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดงานนี้ด้วย

แต่แล้ว ประมาณวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๐๓ โดยไม่ได้คาดหมาย ไม่รู้ตัว พระมหาศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนิสิตรุ่นพี่ เป็นกรรมการนิสิตมาตั้งแต่ปีก่อนๆ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นิสิตทั้งหลาย (ต่อมา คือ พ.อ. ศรีสวัสดิ์ แสนพวง ผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์กองทัพบก พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๗) เดินเข้ามาหา จับมือแล้วจูงไปให้สามเณรเข้ารับหน้าที่เป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ท่านย้ำว่าได้ใส่ชื่อเข้าไปแล้ว

นั่นเป็นเมตตาของท่านพระผู้พี่ๆ ทั้งหลาย ที่ได้เห็นชอบหรือตกลงกันว่าอย่างนั้นแต่ตัวผู้เล่านี้ ไม่มีฉันทะในงานอย่างนี้เลย แล้วก็ไม่ถนัดด้วย ใจชอบแต่จะ ค้นคว้าหาความรู้ให้เต็มที่ จึงขอตัวปฏิเสธๆ แต่ท่านก็ไม่ยอม


พ.อ. ศรีสวัสดิ์ แสนพวง


ในที่สุด ขอเวลาไปคิดก่อน หลังเวลาผ่านไปนาน ก็เกรงใจท่านผู้เมตตา และพิจารณาว่า ถึงแม้คราวนี้จะไม่ยอม แต่ปีหน้า ขึ้นปี ๔ และคงจะได้บวชพระแล้ว จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรยอมรับ จะได้เป็นโอกาสให้ได้ฝึกงานนี้ไว้ ในที่สุด ก็เป็นอันยอมรับเป็นเลขานุการ ตามที่ท่านตกลงกันไว้

อย่างไรก็ดี เดี๋ยวจะมีเหตุร้าย ที่ช่วยให้มีโชคดีพ้นสถานะนี้ไปได้ เรื่องเป็นอย่างไรจะได้เห็นต่อไป

เรื่องเดินหน้าต่อไปว่า หลังจากนั้นเพียง ๒-๓ วัน ขณะที่พระนิสิตกำลังเตรียมตัวจะเริ่มเตรียมการจัดงานอนุสรณ์ฯ กันอยู่ ก็ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๓ เป็นต้นมา ได้มีตำรวจสันติบาลเข้ามาปรากฏ แล้ววนไปเวียนมาที่มหาจุฬาฯ เที่ยวตรวจดูตามเครื่องพิมพ์ดีด และคอยสังเกตการณ์


ครั้นแล้ว ตํารวจสันติบาลก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสำคัญทีเดียว คือมาค้นหลักฐานที่เขาต้องการหา แล้วลงท้ายโดยบอกว่า ได้พบเอกสารคอมมิวนิสต์จำนวนมาก ที่มหาจุฬาฯ

จากนั้น ตํารวจสันติบาลก็นิมนต์เจ้าของหรือผู้รับผิดชอบต่อเอกสารเหล่านั้น ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี โดยให้ไปอยู่ในที่คุมขัง ที่กองบังคับการตำรวจสันติ

ท่านที่ถูกนิมนต์ไป หรือพูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าถูกจับไปครั้งนั้น ได้แก่ พระมหามนัส จิตฺตทโม สั่งการเลขาธิการ มหาจุฬาฯ (เป็นผู้กำกับแผนกบาลีอุดมศึกษาด้วย) และพระมหานคร เขมปาลี ผู้กำกับแผนกบาลีมัธยมศึกษา

ตำแหน่งสั่งการเลขาธิการ ก็คือผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งในระบบงานของมหาวิทยาลัยยุคต้นๆ เวลานั้น ถือว่าเป็นหัวหน้างานบริหารในทางปฏิบัติ ส่วนอธิการบดี ในยุคนั้น พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่าเป็นตำแหน่งเชิงเกียรติยศ (หรือคุมนโยบายทางการเมือง)


ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเวลานั้น ก็มักตั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ให้เป็นอธิการบดี (มาคุมไว้!) อธิการบดีก็มาเป็นหัวหน้าในพิธีบ้าง เซ็นหรือลงนามในคำสั่งและประกาศต่างๆ บ้าง ส่วนตัวงานจริงที่ทำในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของเลขาธิการ

นอกจากนั้น ที่มหาจุฬาฯ เวลานั้น สั่งการเลขาธิการยังเป็นผู้กำกับแผนกบาลีอุดมศึกษาพร้อมไปในตัวด้วย คือเป็นผู้รับผิดชอบงานในชั้นพุทธศาสตร์ทั้งหมด (คณบดีเวลานั้น คือ พระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม ก็เป็นตำแหน่งโดยเกียรติ)
โดยนัยนี้ การหายไปของสั่งการเลขาธิการในทันทีนั้น ก็จึงเป็นการขาดด้วนของส่วนยอดแห่งงานของมหาจุฬาฯ จะเรียกว่าเกิดความอ้างว้างขึ้นมาทันใด ก็คงพอได้

ส่วนผู้กำกับแผนกบาลีมัธยมศึกษาก็เป็นตำแหน่งใหญ่ รับผิดชอบการเล่าเรียนของพระเณรมหาจุฬาฯ ที่วัดพระเชตุพนทั้งหมด และมีจำนวนมากกว่าแผนกอื่นๆ คือเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของพระเณรมหาจุฬาฯ ทั้งหมด ดังกล่าวแล้วข้างต้น
มิใช่เพียงปัญหาของงานเท่านั้น แต่ข่าวที่แพร่กระจายออกไป ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมหาจุฬาฯ ทั้งหมด โดยเฉพาะภาพของสถาบันในสายตาของพุทธบริษัทและประชาชนทั่วไป  (...โปรดติดตามตอนต่อไป...) 

----------------------------

โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ

ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕

ขอบคุณภาพhttp://www.rta.mi.th/, wikipedia. 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้