Last updated: 29 ก.ย. 2559 |
“การกินเจ” เป็นเรื่องของชนชั้นปกครอง ก่อนแพร่หลายด้วยศาสนาพุทธ
การกินเจเป็นการถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์แบบจีนโบราณ ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนเคยอธิบายว่า คนจีนโบราณเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่รับการติดต่อเซ่นสรวงจากคนสกปรกมีมลทิน ดังนั้นก่อนการประกอบพิธีสำคัญ ผู้เข้าพิธีจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ถือศีลงดเว้นอาหารสดคาว งดเนื้อสัตว์และผักฉุนกลิ่นแรง งดสุรา กิจกรรมทางเพศ สำรวมกายใจให้บริสุทธิ์สะอาด ในพื้นที่เฉพาะตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นถึงแรงศรัทธา ซึ่งเป็นที่มาของการกินเจนั่นเอง
การกินเจในชนชั้นสูงปรากฏหลักฐานในคัมภีร์หลี่จี้ (อธิบายจารีต) ที่กล่าวถึงการกินเจในสมัยราชวงศ์โจวซึ่งเคยรุ่งเรืองเมื่อราว 1046-256 ปีก่อนคริสต์กาลว่า “เมื่อทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่, หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องที่ต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่กินเจ”
ถาวร กล่าวว่า คนโบราณจะกินเจกันน้อย กินเฉพาะเวลาจำเป็น จนกระทั่งมีการเปิดเส้นทางสายไหมทำให้พืชผักหลากหลายเข้าสู่จีนมากขึ้น และการคิดค้นทำเต้าหู้ขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอื่นๆ ตามมา ทำให้เมนูอาหารเจมีความสมบูรณ์ขึ้นในยุคราชวงศ์ฮั่น
เมื่อเข้าสู่ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ เป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรือง แม้เดิมทีพุทธศาสนาจะไม่ได้ห้ามกินเนื้อแต่มหายานบางสายให้ความสำคัญกับการกินเจจึงเกิดคัมภีร์ลังกาวตารสูตรขึ้นมาสนับสนุนเรื่องนี้ และข้อจำกัดหลายๆ อย่างก็ทำให้พระในศาสนาพุทธต้องหันมากินเจ เช่นการออกบิณฑบาตไม่ได้ในฤดูหนาว หรือในยุคที่ศาสนาพุทธถูกต่อต้าน นักบวชจำเป็นต้องทำอาหารกินเอง ก็ต้องทำอาหารจำพวกมังสวิรัสหรืออาหารเจตามประเพณีเดิมของจีน
ชนชั้นปกครองยังทำให้การกินเจตั้งมั่นในศาสนาพุทธยิ่งขึ้นไปอีก ตามข้อมูลของ ถาวร ระบุว่า พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ ได้อ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรแล้วศรัทธามาก ในปี พ.ศ. 1054 จึงได้ออก “ประกาศงดสุราและเนื้อ” ให้นักบวชพุทธศาสนาถือปฏิบัติ และด้วยพระองค์ครองราชย์อยู่นานถึง 48 ปี ประกอบกับแคว้นเหลียงของพระองค์ก็ใหญ่โตราวครึ่งประเทศจีนทำให้จารีตนี้แพร่หลายไปทั่ว รวมถึงแคว้นอื่นๆ ที่นับถือพุทธก็เช่นกัน เมื่อเข้าสู่ยุคราชวงศ์ถัง บางวัดยังประกาศห้ามผักฉุน 5 อย่าง ซึ่งกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมา
(พระเจ้าเหลียงอู่ตี้)
นอกจากพุทธแล้ว กลุ่มความเชื่ออื่นๆ ในจีนก็ถือศีลกินเจด้วย เช่น เต๋า ซึ่งเดิมกินเจแบบจีนโบราณคือ เฉพาะเวลาประกอบพิธี แต่ภายหลังพัฒนาจนมีระบบนักบวชขึ้น และ “ช้วนจินก้า” ได้แยกนิกายออกมาก็ได้กำหนดให้นักพรตต้องกินเจตลอดชีวิต ส่วนนิกายเจิ้งอี่ที่แพร่หลายในไตหวัน ยังยึดประเพณีแบบเดิม
ลัทธิ “เม้งก้า” (ลัทธิที่มีรากมาจากโซโรอัสเตอร์ในเปอร์เซีย) ก็ถูกอ้างว่าเป็นต้นกำเนิดของการกินเจเช่นกัน ด้วยมีตำนานระบุว่า มาเนสหรือมณี ผู้เป็นศาสดานั้นถือมังสวิรัติ รวมถึงเรื่องการแต่งขาว แต่ถาวรกล่าวว่า เม้งก้าเมื่อเข้าจีนก็ได้รับอิทธิพลของเต๋าและพุทธไปมาก จึงศึกษาให้รอบด้านก่อน
ถาวรสรุปว่า การกินเจเดิมเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองที่จะกินเฉพาะเมื่อมีพิธีกรรมสำคัญ ต่อมาเมื่อการกินเจกลายมาเป็นจารีตของนักบวชพุทธชาวบ้านก็เริ่มถือตาม ขณะที่ความเชื่ออื่นๆ อย่างเต๋าหรือเม้งก้า แม้จะกินเจเช่นกันแต่ก็น่าจะไม่มีส่วนทำให้การกินเจแพร่หลายได้เท่ากับพุทธ
อย่างไรก็ดี ถาวรกล่าวว่า ปัจจุบันการกินเจในจีนได้เสื่อมลงจนแทบหมดไปจากจีน แต่ยังมีเหลืออยู่ในไต้หวัน ส่วนในไทยที่รับมาจากจีนกลับรุ่งเรืองจนแพร่ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นเทศกาลใหญ่ในปัจจุบัน
อ้างอิง: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” โดย ถาวร สิกขโกศล
----------------------------------
โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ
ขอบคุณ/ที่มา: https://www.silpa-mag.com/featured/article_2932