Last updated: 21 ก.ย. 2559 |
พระพุทธศาสนาในอินเดียใต้
พระพุทธศาสนทางอินเดียใต้ ได้แก่ แถบเดกกันลงไปถึงแหลมใต้สุดของอินเดีย แม้หลักฐานจะไม่ปรากฏชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่ถิ่นนี้ในยุคใดก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าคงจะเข้ามาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะปรากฎในศิลาจารึกแผ่นที่ ๑๓ ว่า มีแคว้นต่างๆ ทางใต้ เช่น โจฬะ ปาณฑยะ ลังกา
เนื่องจาก คนทางอินเดียใต้จะไม่ถือวรรณะแบบทางเหนือ จึงมีความเลื่อใสในพระพุทธศาสนามาก หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาในอินเดียตอนใต้คืองานกวีนิพนธ์ต่างๆ แต่พระพุทธศาสนาก็เจิรญอยู่ไม่มากนัก
(อินเดียใต้: Shore Temple หรือเทวาลัยชอร์)
ประมาณศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ศาสนาฮินดูและเชน ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ศาสนาเชนได้ตั้งตนเป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ หลักฐานทางด้านศาสนาเชนบอกว่า คณาจารย์ของเชนชื่อ อลังการ ได้โต้วาทีกับพระภิกษุจนชนะ ทำให้เกิดความละอายจึงอพยพออกไปสู่ลังกาเป็นอันมาก แต่พระพุทธศาสนาหาได้เสื่อมไปทีเดียวไม่ เพราะประวัติศาสตร์ของลังกาบอกว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าปรักกมาพาหุแห่งลังกา พ.ศ.๑๖๙๕-๑๗๑๖ พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์ พร้อมด้วยคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากแคว้นโจฬะไปเป็นอันมาก
เพื่อไปปรับปรุงพระพุทธศาสนา งานทางวรรณกรรมที่จัดว่าสำคัญและมีชื่อเสียง เช่น มหาวงศ์ตอนท้าย จุลวงศ์ ทาฐวงศ์ รูปสิทธิ ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นผลงานของพระลังกา แท้ที่จริงแล้ว ท่านเหล่านั้นเป็นพระเถระชาวอินเดียใต้ ซึ่งพำนักอยู่ที่ลังกาได้แต่งขึ้นเท่านั้น คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในนิกายเถรวาท มหายาน แม้แต่มนตรยานหลายท่าน ที่เป็นชาวอินเดียใต้ เช่น ๑.พระพุทธทัตตะ ๒.พระโพธิธรรม ๓.พระวัชรโพธิ เป็นต้น
๑. พระพุทธทัตตะ เป็นชาวทมิฬแห่งอินเดียใต้ เกิดในวรรณะไหนไม่ปรากฏหลักฐาน รู้แต่เพียงว่าท่านเกิดที่เมืองอุรคปุระ (ปัจจุบันคือเมืองอุไรยูระ) และเป็นผลเมืองอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำกาเวริ (kaveri region) ในอาณาจักรโจฬะ (เมืองหลวงของอาณาจักรนี้ในสมัยนั้นคือตัญจาวูร์) และเคยเดินทางไปอยู่ที่วัดมหาวิหารในลังกาด้วย
พระพุทธทัตตะ เป็นนักปราชญ์ทางพุทธฝ่ายบาลีที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธโฆสาจารย์พระอรรถกถาจารย์ฝ่ายบาลีผู้ยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันดี รศ.พัฒน์ เพ็งพลา กล่าวว่า ท่านเป็นเพื่อนของพระพุทธโฆสาจารย์ พระพุทธทัตตะเป็นพระภิกษุที่เป็นศิษย์เก่าแห่งวัดมหาวิหารในลังกา ผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง เป็นศิษย์รุ่นพี่พระพุทธโฆสาจารย์และมีอายุแก่กว่า
๒. พระโพธิธรรม จีน เรียกว่าปรมาจารย์ตั๊กม้อ ผู้เป็นชนพระโอรสของแคว้นตักคันธาระ น่าจะเป็นเชื้อสายราชวงศ์กุษาณ ได้จารึกเดินทางขึ้นมาบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ได้วางรากฐานพุทธศาสนาในดินแดนดังกล่าวอีก ครั้งหนึ่งโดยใช้เวลาเผยแผ่อยู่ ๓ ปี ก่อนที่พระโพธิธรรมจะเดินทางขึ้นไปเผยแพร่ที่ดินแดนจีน
(พระโพธิธรรม)
๓. ขณะที่ ราชวงศ์ปัลลวะ กำลังจะเสื่อมลง ได้มี พระวัชรโพธิ นำคณะสงฆ์เดินทางจาก อินเดียใต้ เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดน สุวรณภูมิ และ สุวรรณทวีป ตั้งแต่ พ.ศ. 1260 - 1284 แล้วได้เดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาในจีนต่อไป
ในครั้งนั้น พระวัชรโพธิ ได้อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานไว้ที่ พระธาตุดอยตุง ในสมัยกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งจามเทวีวงศ์ หลังจากที่ พระวัชรโพธิ ได้เดินทางจาริกไป จีน แล้วประมาณ 10 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่จีนเรียกว่า กิมเกียวก๊ก เป็นอดีตราชวงศ์ของชาวสยาม ได้เดินทางจาริกตามไป จีน และสร้าง ตำนานพนะกษิติครรภ หรือ ที่จีนเรียกว่า หลวงจีนตี้จัง ไว้ที่ ภูเขาเกาฮั่วซัว มีสาระเนื้อหาเช่นเดียวกับกับเรื่องของ พระมาลัย ที่แต่งตั้งขึ้นในไทย
(อินเดียใต้: ภาพแกะสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ ภาพเกาะสลักนี้ ได้แกะสลักตรงเนินเขา ซึ่งได้กล่าวกันว่า ภาพแกะสลักนี้มี สองนัย คือ เป็นภาพ พระแม่คงคาเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ หรือ ก็เรียกว่า ภาพแกะสลักอรชุน )
แม้ว่า ในตอนหลังพระพุทธศาสนา จะถูกคุกคาม รุกรานจากภัยภายนอก จนถูกกลืนไปกับฮินดูก็ตาม แต่ในยุคที่พระพุทธศาสนายังเจริญอยู่ พระพุทธศาสนามีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมอินเดียใต้มากมายนัก โดยเฉพาะในด้านวรรณกรรมมีเป็นอันมากที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นภาษาทมิฬ บาลี และสันสกฤต
เรื่องราวของพระพุทธศาสนาในอินเดียใต้ ได้มีการค้นคว้าตรวจสอบกันในศตวรรษที่ ๒๕ ทำให้เราทราบว่า พระพุทธศาสนาในอินเดียใต้ ได้ดำรงอยู่จนจึงศตวรรษที่ ๑๙ เพราะในศตวรรษนี้ ยังมีอารามพระภิกษุสามเณร การศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่มาก แต่หลังศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว พระพุทธศาสนาได้เงียบงายไป
----------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ
ที่มา: หนังสือประวัติศาสนาพระพุทธศาสนา. พระโสภณคณาภรณ์ (ระบบ ฐิตญาโณ)