‘โป๊ป’นิมนต์พระไทย แปลคัมภีร์รัชกาลที่7

Last updated: 24 ส.ค. 2559  | 

‘โป๊ป’นิมนต์พระไทย แปลคัมภีร์รัชกาลที่7

‘โป๊ป’นิมนต์พระไทย แปลคัมภีร์รัชกาลที่7 

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ส่งคณะผู้แทนมาไทย แจ้งค้นพบคัมภีร์อักษรขอมโบราณที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงถวายองค์สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พร้อมมีพระประสงค์นิมนต์ให้คณะสงฆ์วัดโพธิ์ ถอดข้อความจากคัมภีร์ฯ เพื่อนำไปแปลอีก 7 ภาษา จากนั้นจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี ถวายพระสันตะปาปาทุกพระองค์ ด้านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯระบุเบื้องต้นพบเป็นบทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ กับบทสวดพระมาลัย คาดการถอดข้อความเสร็จในสิ้นปีนี้

ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มองซินญอร์วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เพื่อแจ้งความประสงค์ในสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก องค์ที่ 266 หรือโป๊ปองค์ปัจจุบัน ว่า สำนักวาติกันได้ค้นพบคัมภีร์อักษรขอมโบราณของประเทศไทย และจะขอนิมนต์คณะสงฆ์ไทยจากวัดพระเชตุพนฯ ปริวรรตหรือถอดอักษรคัมภีร์อักษรขอมโบราณที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงถวายเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พร้อมกับเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 เมื่อวันพุธที่ 21 มี.ค. ปี ค.ศ.1934 (ตรงกับปี พ.ศ.2477)

จากนั้นพระเทพวีราภรณ์เปิดเผยว่า มองซินญอร์วิษณุ พร้อมด้วยคณะผู้ติดตาม ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักวาติกัน ได้เข้าพบเพื่อแจ้งว่า สำนักวาติกันได้ค้นพบคัมภีร์อักษรขอมโบราณบันทึกในสมุดข่อยจากประเทศไทย ซึ่งสำนักวาติกันตื่นเต้นมาก เพราะถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่า โดยโป๊ปพระองค์ที่ 266 มีพระประสงค์จะขอนิมนต์ให้คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯแปลข้อความในคัมภีร์อักษรขอมโบราณเมื่อแปลเสร็จ สำนักวาติกันจะนำข้อความที่แปลได้ไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีก 7 ภาษา เพื่อจะเปิดแสดงคัมภีร์โบราณถวายแด่พระสันตะปาปาในทุกๆพระองค์ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี


(ภาพประกอบ: อักษรขอมโบราณ )


เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กล่าวต่อว่า คัมภีร์อักษรขอมโบราณ เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีการบันทึกเป็นอักษรขอมโบราณ ซึ่งเป็นของถวายแด่พระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ถวายเมื่อครั้งเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 เมื่อวันพุธที่ 21 มี.ค. ปี ค.ศ.1934 เวลา 11.30 น. ตามบันทึกของสำนักวาติกัน ส่วนสาเหตุที่มานิมนต์พระสงฆ์จากวัดพระเชตุพนฯเพราะสำนักวาติกันได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากบันทึกว่า การเสด็จเยือนของพระมหากษัตริย์และพระประมุขจากนานาอารยประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า เมื่อปี พ.ศ.2515 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 (ปุ่น ปุณฺณสิริ) แห่งวัดพระเชตุพนฯ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 อย่างเป็นทางการ ณ นครรัฐวาติกัน เพื่อการเสวนาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาและคริสตจักร

ดังนั้น สำนักวาติกันจึงได้มอบหมายให้มองซินญอร์วิษณุเป็นตัวแทนนิมนต์คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯปริวรรตคัมภีร์อักษรขอมโบราณเล่มนี้ และหลังจากที่ได้หารือร่วมกันแล้ว วัดพระเชตุพนฯจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการปริวรรตหรือถอดข้อความจากคัมภีร์เล่มนี้โดยเร่งด่วน โดยมอบให้พระสุธีธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นหัวหน้าคณะ



ด้านมองซินญอร์วิษณุ กล่าวว่า ในนามคณะผู้แทนวาติกัน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯให้ความเมตตาเป็นอย่างมากที่จะจัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอักษรขอมถอดข้อความในคัมภีร์โบราณ การได้ทำงานร่วมกันครั้งนี้ถือเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างคริสตจักรโดยองค์สมเด็จพระสันตะปาปาและพระพุทธศาสนา

ส่วนพระสุธีธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ หัวหน้าคณะปริวรรตคัมภีร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงสุดที่ได้รับการติดต่อจากสำนักวาติกันให้ถอดอักษรจากคัมภีร์สมุดข่อย ซึ่งมีการบันทึกด้วยอักษรขอมโบราณ ซึ่งสมัยก่อนพระเณรต้องอ่านขอมได้ จึงอ่านเทศน์ได้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าเนื้อหาประกอบด้วยบทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ กับบทสวดพระมาลัย การถอดข้อความจะใช้เวลาไม่เกินสิ้นปีนี้จะแล้วเสร็จ


------------------------------------------------


เรียบเรียงใหม่โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ

ที่มา: ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/699989

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้