เย็นหิมะในรอยธรรม

Last updated: 31 ก.ค. 2559  | 

เย็นหิมะในรอยธรรม

“สำหรับที่ยุโรป

ตั้งใจว่าจะไม่ใช้เงินไทย วางเป็นนโยบายเลยว่า

ต้องเอาเงินฝรั่ง สร้างวัดให้ฝรั่ง

พระไปอยู่ประเทศไหน ก็เอาเงินประเทศนั้นสร้างวัด

เพราะถ้าเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ

เราจะต้องขนเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไหร่

จึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง"


เอาเงินฝรั่ง....สร้างวัดให้ฝรั่ง

การสร้างวัดที่ยุโรปตอนแรกนั้น ต้องไปเช่าคอนโดอยู่ พยายามแสวงหาพระที่จะไปอยู่นานปี แต่ก็ไม่มีใครอยากไปอยู่ เพราะกลัวความหนาวของหิมะ

ต่อมา เจ้าคุณจำนงค์ ท่านรับอาสาว่า อยู่ได้ ก็เอาท่านไป พอไปถึง ก็ยกธงธรรมจักรไว้ที่หน้าต่าง เป็นสัญลักษณ์ ให้รู้กันว่า พระพุทธศาสนามาตั้งอยู่ในยุโรปแล้ว แต่การอยู่ตอนแรก ก็ลำบากมาก เพราะต้องอยู่ปนกับเขาห้องนิดเดียว จนกระทั่ง ได้ขยายมาเป็นวัด อย่างปัจจุบัน

วัดแรกในยุโรปนั้น เกิดขึ้นที่ประเทสเนเธอร์แลนด์ และการสร้างวัดในยุโรป ก็ได้ประสบการณ์จากอเมริกา คือ ที่อเมริกาสร้างวัดยังต้องใช้เงินจากประเทศไทยอยู่บ้าง ผ้าป่าบ้าง กฐินบ้าง แต่ก็น้อย โดยมาก เป็นเงินของอเมริกา

สำหรับที่ยุโรป ตั้งใจว่า จะไม่ใช้เงินไทย วางเป็นนโยบายเลยว่า ต้องเอาเงินฝรั่งสร้างวัดให้ฝรั่ง พระไปอยู่ประเทศไหน ก็เอาเงินประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทย ไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องขนเงินบาท ออกนอกประเทศเท่าไร จึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินต่างกันมาก 

(ภาพประกอบ)


"พระที่ไปอยู่ต่างประเทศ จึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง"


ที่เนเธอร์แลนด์นั้น ตอนนี้ พระที่ไปอยู่เป็นเจ้าคุณราช [1] อายุ ๗๐ ปี ท่านอยู่วัดสระเกศมานาน สำเร็จปริญญาเอก เมื่อก่อนทำงานมหาจุฬาฯ เป็นเหรัญญิกคุมการเงินของมหาวิทยาลัย ทำงานรุ่นเดียวกับท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ผมบอกท่านว่า อย่าไปคุมเลยการเงิน มหาจุฬาฯ เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นอย่างเมื่อก่อนแล้ว เงินมากขึ้น งบประมาณมากขึ้น เดี๋ยวมีปัญหา เลิกเสียเถอะ

หลวงพ่อถามท่านว่า เสียดายเงินเดือนไหม

ท่านบอกว่า ไม่เสียดาย ถ้าไม่เสียดายก็หยุดเถอะ มาอยู่ที่วัดดีกว่า ไม่ต้องทำแล้ว ท่านก็หยุดมาอยู่ที่วัด

ต่อมา ที่วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์ เกิดว่าง ไม่มีพระดูแล หลวงพ่อเลยถามท่านว่า ไปอยู่เนเธอร์แลนด์ได้ไหม ท่านก็ว่า ไปได้ หลวงพ่อบอกว่า ถ้าอยู่ได้ก็ไม่ต้องกลับแล้วนะ อยู่ที่นั่นแหละ เพราะเราอายุ ๗๐ กว่าแล้ว คนที่นั่นเขาเคารพนับถือ ท่านก็เลยต้องอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งทุกวันนี้

ยุโรปในสมัยนั้น คนไทยยังไม่มาก โดยมากเป็นพวกหัวรุนแรงที่หนีการเมืองสมัย ๑๖ ตุลาไปอยู่ หนังสือกล่าวโจมตีพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นก็พิมพ์ที่นี่ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ความคิดอย่างนั้นเบาไปมากแล้ว

ทุกวันนี้ ที่สวีเดนพวกหัวรุนแรงก็ยังมาวัด และพวกนี้แหละที่เป็นกำลังของการตั้งวัดครั้งแรก เมื่อไปอยู่อย่างนั้นแล้ว ก็คงมีความโดดเดี๋ยว เหมือนขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงมีความพยายามที่จะให้มีวัด มีพระเป็นที่พึ่งด้านจิตใจ

ก็แปลก ตอนอยู่เมืองไทยไม่ชอบพระ หาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พระกินอยู่สบาย เอาเปรียบสังคม แต่พอไปอยู่อย่างนั้น เกิดคิดถึงพระขึ้นมา

ขวนขวายทุกอย่าง อยากให้มีวัด อยากให้มีพระ



ไปต่างประเทศ...ต้องระมัดระวัง

ยุโรปตอนที่ไปสมัยนั้น พระจะพูดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ไม่ได้เลย พวกหัวรุนแรงค้านทันที และค้านอย่างรุนแรงด้วย รู้ว่าเขาไม่ชอบ เราก็ไม่พูด ขอเพียงให้จุดประสงค์ของเราสำเร็จก็พอ คือ ขอเพียงให้มีวัดเกิดขึ้น แต่บางครั้ง เขาก็ตำหนิพระเหมือนกัน ว่า ทำไมพระถึงไปรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ และก็รับใช้รัฐบาลเผด็จการ ทำไมพระไม่เป็นตัวของตัวเอง

เรื่องนี้ เจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านทราบดี เดี๋ยวนี้ ความคิดรุนแรงเช่นนี้มันเบาลงไปมากแล้ว เพราะรัฐบาลก็ปรับปรุงอะไรต่ออะไร ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บางทีรัฐบาลเอง ก็มาจากกลุ่มคนหัวรุนแรงนั้นเยอะ เกือบ ๔๐ % ของรัฐบาลปัจจุบัน มาจากกลุ่มคนหัวรุนแรง

รวมความแล้ว วัดที่ยุโรปเกิดขึ้นได้นั้น ก็อาศัยคน ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มพวกหัวรุนแรง กลุ่มคนไทยที่ไปอยู่ที่นั่น และ สถานทูต จากนั้น ก็เริ่มขายขึ้นเรื่อยมา และพระที่เป็นหลักตั้งแต่ต้น คือ เจ้าคุณจำนงค์นี้ ท่านเป็นผู้บุกเบิกอย่างมาก และ ท่านก็ทำงานอย่างน่าสงสาร ปีหนึ่งก็มาเมืองไทยสักครั้ง หรือ ๒ ครั้ง

เจ้าคุณจำนง [1] ได้ทำประโยชน์ต่อพระศาสนาในต่างประเทศมากโดยเฉพาะที่ยุโรป อาจจะเรียกว่า เป็นหลักเลยก็ว่าได้ ฝรั่งเคารพศรัทธาท่านมาก หากท่านมีอายุอยู่ต่ออีกสัก ๑๐ ปี เชื่อว่า ทางยุโรปนี้ พระพุทธศาสนาจะเข้าไปไกลถึงรัสเซียได้แน่นอน เพราะตอนนี้กำลังวางแผนกันอยู่ แต่ท่านก็มรณภาพก่อน

พระศาสนาขาดบุคากรที่สำคัญไปอีกองค์แล้ว

ไปตอนแรก หลวงพ่อเห็นว่า ที่สวีเดนคนไทยอยู่มาก เขาอยากให้มีพระไปอยู่ ท่านรับปากว่าจะไปอยู่ได้ หลวงพ่อบอกท่านว่า ถ้าไปแล้วอย่าคิดกลับนะ ต้องคิดเอาหิมะกลบหน้าอยู่ที่นั่นแหละ ท่านก็รับปาก แล้วท่านก็ทำของท่านตามที่พูดไว้ ไม่กลับเมืองไทยจนตาย ตอนตายก็ตายขณะนำพระเณรทำวัตรสวดมนต์ด้วย ที่พวกเราจะเดินทางไปเผาท่าน

แต่ให้พวกเรารู้อย่างหนึ่ง คนไทยเราแปลก ไม่ว่าจะอยู่ในยุโรปหรือในอเมริกาก็ตาม พอตั้งวัดได้แล้ว ก็จะแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย พอตั้งหลักได้สักพักหนึ่ง ก็อยากจะเป็นหัวหน้า อยากจะเป็นใหญ่บ้าง อิจฉากันบ้าง เห็นคนอื่นดีกว่า เก่งกว่าไม่ได้ ก็หาทางที่จะให้พวกที่เป็นกรรมการเดิมลงบ้าง ด่ากันเองบ้าง ยังไงไม่ทราบ คนไทยต้องมีเรื่องทะเลาะ เรื่องด่า เรื่องว่ากัน เดี๋ยวก็มีคนโน้นมาว่าอย่างนี้ เดี๋ยวก็มีคนมาว่าอย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะมีคนมาว่าอย่างนั้น พระที่ไปอยู่ถ้าใจไม่เข้มแข็ง โอนไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะมีปัญหา

 

 

"เรื่องนี้พระไปอยู่ต่างประเทศต้องอดทนสูง"

ที่ยุโรป เมื่อก่อนหลวงพ่อไปทุกปี ไปติดต่อกันราว ๓๐ ปี เพื่อต้องการที่จะให้มีวัดขึ้นในยุโรป แต่อเมริกาไปน้อยกว่า เพราะที่อเมริกามีคนไทยมากตั้งวัดได้เร็ว แต่ยุโรปไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ต้องไปดูหลายครั้งให้แน่ใจว่า ตั้งวัดได้ ใช้เงินในการเดินทางไปยุโรปมาก เพื่อต้องการที่จะให้มีวัด แต่ค่าใช้จ่ายตอนนั้นก็ยังนับว่าถูกมาก

ไปครั้งแรกใช้เงินหมื่นกว่าบาท ไม่ถึงสองหมื่นบาท อยู่เกือบยี่สิบวัน ค่าเครื่องบินไม่ถึงหมื่น



การไปต่างประเทศต้องระมัดระวัง แต่ไม่ใช่ถึงกับระวังจนทำอะไรไม่ถูก ฝรั่งนี่ระเบียบมาก ถ้าไม่ถูกระเบียบเขาไม่เอาด้วย เห็นเป็นที่ว่าง เราอยากจะเดินไปตรงนี้ บางทีเขาไม่ให้เดินมันก็ไปเล่นงานเรา อย่านึกว่าว่างแล้วไปได้ บางทีเขาว่าเอา มันก็ไม่ดี พระเราก็เสีย เขาก็จำไว้ว่า ใส่สีเหลืองแล้วเป็นพวกไม่รู้เรื่องรู้ราวไป

สีเหลืองของจีวรนั้นเป็นสีแปลก จะเพราะเหตุไรไม่ทราบ ทำให้ฝรั่งเกิดความสนใจ เขารู้สึกว่ามันสวย ไปต่างประเทศแรกๆ ฝรั่งทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่ เด็กหนุ่ม เห็นสีจีวรแล้วสนใจชอบมาดูมาถามว่า อยู่ประเทศไหน พอบอกว่า อยู่ประเทศไทย เขาถามต่อว่า แต่งตัวอย่าวงนี้หมดทั้งประเทศหรือเปล่า แล้วก็อธิบายให้เขาฟังว่า เราเป็นพระจึงแต่งตัวอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็น้อยลง เพราะพระเข้าออกต่างประเทศมาก

-----------------------------------------


[1] พระราชรัตนรังสี (จำนงค์ ชุตินฺธโร) วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน.


-----------------------------------------

ข้อมูล: เย็นหิมะในรอยธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสโณ)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้